ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม
นักธรรมชั้นโท
สอบในสนามหลวง
วันเสาร์
ที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑
๑. รูปในขันธ์ ๕ แบ่งเป็น ๒ ได้แก่อะไรบ้าง ? จงอธิบายมาสั้น ๆ พอเข้าใจ
๑. ได้แก่
มหาภูตรูป และ อุปาทายรูป
มหาภูตรูป คือ
รูปใหญ่ อันได้แก่ ธาตุ ๔ มีดิน น้ำ ไฟ ลม
อุปาทายรูป คือ
รูปอาศัย เป็นอาการของมหาภูตรูป เช่น
ประสาท ๕ มีจักขุประสาทเป็นต้น โคจร ๕
มีรูปารมณ์เป็นต้น ฯ
๒. เจโตวิมุตติ
กับ ปัญญาวิมุตติ ต่างกันอย่างไร ?
๒. เจโตวิมุตติ
เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุฌานมาก่อนแล้ว จึงบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ ส่วนปัญญาวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุด้วยลำพังบำเพ็ญวิปัสสนาล้วน
อีกนัยหนึ่ง เรียกเจโตวิมุตติเพราะพ้นจากราคะ
เรียกปัญญาวิมุตติเพราะพ้นจากอวิชชา ฯ
๓. กิจจญาณ คืออะไร ? เป็นไปในอริยสัจ ๔ อย่างไร ?
๓. คือ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ ฯ
ปรีชาหยั่งรู้ว่า
ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้
ทุกขสมุทัยเป็นธรรมชาติที่ควรละ
ทุกขนิโรธเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด ฯ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด ฯ
๔. ปาฏิหาริย์ ๓ มีอะไรบ้าง ? อย่างไหนเป็นอัศจรรย์ที่สุด ?
๔. มี
อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ฯ
อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นอัศจรรย์ที่สุด
ฯ
๕. กิเลส กรรม วิบาก เรียกว่าวัฏฏะ
เพราะเหตุไร ? จงอธิบาย
๕. เพราะวน คือหมุนเวียนกันไป
ฯ อธิบายว่า
กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม
ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม
เมื่อได้รับวิบาก กิเลสก็เกิดขึ้นอีก
วนกันไปอย่างนี้
ฯ
๖. คำว่า พระโสดาบัน และ สัตตักขัตตุปรมะ มีอธิบายอย่างไร ?
๖. พระโสดาบัน
คือพระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอริยผลขั้นแรก ฯ
สัตตักขัตตุปรมะ
คือพระโสดาบันผู้จะเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง ฯ
๗. อบาย
ได้แก่อะไร ? มีอะไรบ้าง
?
๗. ได้แก่
ภูมิ กำเนิดหรือพวก อันหาความเจริญมิได้ ฯ
มี นิรยะ คือนรก ติรัจฉานโยนิ คือกำเนิดดิรัจฉาน
ปิตติวิสัย คือภูมิแห่งเปรต อสุรกาย คือพวกอสุระ ฯ
๘. มานะ คืออะไร ? ว่าโดยย่อ ๓ อย่าง ได้แก่อะไรบ้าง ?
๘. คือ
ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ฯ
ได้แก่ ๑. สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
๒. สำคัญตัวว่าเสมอเขา
๓. สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ฯ
๙. สมุทัยวาร กับ นิโรธวาร ในปฏิจจสมุปบาท
ต่างกันอย่างไร ?
๙. สมุทัยวาร
คือการแสดงความเกิดแห่งผล เพราะเกิดแห่งเหตุ
ส่วนนิโรธวาร คือการแสดงความดับแห่งผล เพราะดับแห่งเหตุ ฯ
๑๐. ธุดงค์
คืออะไร ? ข้อใดของปัจจัย
๔ ไม่มีในธุดงค์ ?
๑๐. คือ วัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง
บัญญัติขึ้นด้วยหมายจะให้เป็นอุบาย ขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
ข้อ ยารักษาโรค ฯ
***********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น