วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นโท 2555


ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นโท
สอบในสนามหลวง
วันอาทิตย์ ที่ ๒ ธันวาคม พ.. ๒๕๕๕
๑.      ภิกษุแม้ล่วงละเมิดพระวินัยแล้วไม่ต้องอาบัติ ได้รับยกเว้นทุกสิกขาบท ได้แก่ภิกษุประเภทไหนบ้าง?
ตอบ ได้แก่      ภิกษุบ้าคลั่งจนไม่มีสติสัมปชัญญะ
ภิกษุเพ้อจนไม่รู้สึกตัว
ภิกษุกระสับกระส่าย เพราะมีเวทนากล้าจนถึงไม่มีสติ ฯ
๒.     สังฆกรรม ๓ อย่างนี้ คือ การสวดปาฏิโมกข์ อุปสมบทกรรมและอัพภาณกรรม มีจำกัดจำนวนสงฆ์อย่างน้อยเท่าไรจึงจะถูกต้องตามพระวินัย?
ตอบ การสวดปาฏิโมกข์ ต้องการสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูป เป็นอย่างน้อย
อุปสมบทกรรมในปัจจันตประเทศ ต้องการสงฆ์ปัญจวรรค คือ ๕ รูป เป็นอย่างน้อย อุปสมบทกรรมในมัธยมประเทศ ต้องการสงฆ์ทสวรรค คือ ๑๐ รูป เป็นอย่างน้อย
อัพภาณกรรมต้องการสงฆ์วีสติวรรค คือ ๒๐ รูปเป็นอย่างน้อย ฯ
๓.     จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ อุปัชฌายะ สัทธิวิหาริก นิสสัย
ตอบ อุปัชฌายะ เป็นชื่อเรียกภิกษุผู้รับให้พึ่งพิง แปลว่าผู้ฝึกสอนหรือผู้ดูแล,
สัทธิวิหาริก เป็นชื่อเรียกภิกษุผู้พึ่งพิง แปลว่าผู้อยู่ด้วย,
นิสสัย เป็นชื่อเรียกกิริยาที่พึ่งพิง ฯ
๔.     ภิกษุผู้ได้รับเสนาสนะของสงฆ์ให้เป็นที่อยู่อาศัย ควรเอาใจใส่รักษาเสนาสนะนั้นอย่างไร?
ตอบ ควรเอาใจใส่รักษาดังนี้
๑) ไม่ทำให้เปรอะเปื้อน
๒) ชำระให้สะอาด
๓) ระวังไม่ให้ชำรุด
๔) รักษาเครื่องเสนาสนะ
๕) ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้มีพร้อม
๖) ของใช้สำหรับเสนาสนะหนึ่งอย่านำไปใช้ที่อื่นให้กระจัดกระจาย ฯ
๕.      คำว่า วัตถุเป็นอนามาส คืออะไร ภิกษุจับต้องวัตถุเป็นอนามาสเป็นอาบัติอะไร?
ตอบ คือ สิ่งที่ภิกษุไม่ควรจับต้อง ฯ
ภิกษุจับต้องมาตุคาม เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ถุลลัจจัย และทุกกฏตามประโยค จับต้องบัณเฑาะก์ด้วยความกำหนัดเป็นอาบัติถุลลัจจัย นอกนั้นเป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏทั้งหมด ฯ
๖.      ภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนจนได้ปวารณา ย่อมได้อานิสงส์แห่งการจำพรรษาอะไรบ้าง?
ตอบ ได้รับอานิสงส์ ๕ อย่าง คือ
๑) เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลกวรรคในปาจิตติยกัณฑ์
๒) เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
๓) ฉันคณโภชน์ และปรัมปรโภชน์ได้
๔) เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕)จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ
ทั้งได้โอกาสเพื่อกรานกฐิน และรับอานิสงส์ ๕ นั้นเพิ่มออกไปอีก ๔ เดือนตลอดเหมันตฤดู ฯ
๗.     ปวารณามีกี่อย่าง? อะไรบ้าง? ในอาวาสหนึ่งมีภิกษุจำพรรษา ๓ รูป เมื่อถึงวันปวารณา พึงปฏิบัติอย่างไร?
ตอบ มี ๓ อย่าง คือ สังฆปวารณา คณปวารณา และบุคคลปวารณา ฯ
พึงทำคณปวารณา ฯ
๘.     องค์ที่เป็นลักษณะแห่งการถือวิสาสะ คืออะไรบ้าง? เห็นว่าข้อไหนสำคัญ?
ตอบ คือ เป็นผู้เคยได้เห็นกันมา ๑         เป็นผู้เคยคบกันมา ๑     ได้พูดกันไว้ ๑
ยังมีชีวิตอยู่ ๑   รู้ว่าของนั้นเราถือเอาแล้วเขาจักพอใจ ๑ ฯ
เห็นว่าข้อสุดท้ายสำคัญ ฯ
๙.     ภิกษุได้ชื่อว่า อาจารโคจรสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร เพราะประพฤติปฏิบัติเช่นไร?
ตอบ เพราะมีความประพฤติปฏิบัติสุภาพเรียบร้อยสมบูรณ์ด้วยอภิสมาจาริกวัตร เว้นจากอโคจร คือบุคคลและสถานที่ที่ไม่ควรไป ฯ
๑๐. เภสัช ๕ มีอะไรบ้าง จัดเป็นกาลิกอะไร?
ตอบ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ฯ จัดเป็นสัตตาหกาลิก ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น