วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

วิชาธรรม นักธรรมชั้นโท 2557


ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม  นักธรรมชั้นโท
สอบในสนามหลวง
วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.. ๒๕๕๗

๑.     ตจปัญจกกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง? เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอย่างไร? เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานหรือของวิปัสสนากัมมัฏฐาน?
เฉลย มีเกสา ผม  โลมา ขน  นขา เล็บ  ทนฺตา ฟัน  และตโจ หนัง ฯ
เรียกอีกอย่างว่ามูลกัมมัฏฐาน ฯ เป็นอารมณ์ได้ทั้งสมถกัมมัฏฐาน และ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ
๒.    สังขตธรรม และ อสังขตธรรม ต่างกันอย่างไร? สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา เป็นสังขตธรรม เพราะมีลักษณะอย่างไร?
เฉลย สังขตธรรม คือธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนอสังขตธรรม คือธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่ง ฯ เพราะมีลักษณะ คือมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความดับในที่สุด และเมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรผันปรากฏ ฯ
๓.     มหาภูตรูป คืออะไร? มีความเกี่ยวเนื่องกับอุปาทายรูปอย่างไร?
เฉลย คือรูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน อันประกอบด้วยธาตุ ๔ ได้แก่ดิน น้ำ ไฟ ลม ฯ
เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งอุปาทายรูปหรือรูปย่อย เมื่อรูปใหญ่แตกทำลายไป อุปาทายรูปที่อิงอาศัยมหาภูตรูปนั้นก็แตกทำลายไปด้วย ฯ
๔.     กิเลส กรรม วิบาก ได้ชื่อว่า วัฏฏะ เพราะเหตุไร? จะตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร?
เฉลย เพราะหมุนเวียนกันไป คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ
ด้วยอรหัตตมรรค ฯ
๕.    กตญาณ เป็นไปในอริยสัจ ๔ อย่างไร?
เฉลย ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ได้กำหนดรู้แล้ว ทุกขสมุทัยที่ควรละได้ละแล้ว ทุกขนิโรธที่ควรทำให้แจ้งได้ทำให้แจ้งแล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่ควรเจริญได้เจริญแล้ว ฯ
๖.     ความรู้สึกเฉยๆ ทางกาย กับความรู้สึกเฉยๆ ทางใจ จัดเข้าในเวทนา ๕ อย่างไร?
เฉลย ความรู้สึกเฉยๆ ทางกาย จัดเป็นสุข
ความรู้สึกเฉยๆ ทางใจ จัดเป็นอุเบกขา ฯ
๗.    กิเลส ชื่อว่าโอฆะ โยคะ และอาสวะ เพราะเหตุไร?
เฉลย ชื่อว่าโอฆะ เพราะดุจเป็นกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์
ชื่อว่าโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ
ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน ฯ
๘.    การแผ่เมตตาในพรหมวิหาร กับในอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร?
เฉลย ในพรหมวิหาร เป็นการแผ่เมตตาโดยเจาะจงตัว หรือเจาะจงหมู่คณะ
ส่วนในอัปปมัญญา เป็นการแผ่มเตตาโดยไม่เจาะจงตัวไม่มีจำกัด ฯ
๙.    ผู้บริจาคทานระดับใดจัดเป็นทานบารมี ทานอุปบารมี และทานปรมัตถบารมี?
เฉลย บริจาคพัสดุภายนอก จัดเป็นทานบารมี
บริจาคอวัยวะ จัดเป็นทานอุปบารมี
บริจาคชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี ฯ
๑๐.         บุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพหุสุต เพราะประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง?
เฉลย ประกอบด้วย
           ๑. ได้ยินได้ฟังมาก (พหุสสุตา)
           ๒. ทรงจำได้ (ธตา)
           ๓. ท่องไว้ด้วยวาจา (วจสา ปริจิตา)
           ๔. เอาใจจดจ่อ (มนสานุเปกขิตา)
           ๕. ขบด้วยทิฏฐิ (ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา) ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น