วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

วิชาวินัยบัญญัติ นักธรรมชั้นเอก2557


ปัญหาและเฉลยวิชาวินัยบัญญัติ  นักธรรมชั้นเอก
สอบในสนามหลวง
วันอังคาที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.. ๒๕๕๗

๑.    ภิกษุผู้ปรารถนาความตั้งอยู่ยั่งยืนของพระธรรมวินัย ควรปฏิบัติตนอย่างไร?
เฉลย ควรตั้งอยู่ในสีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา และลัชชีธรรม สำรวมในพระปาติโมกข์ ประกอบด้วยอาจาระและโคจระ เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สำเหนียกศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ฯ
๒.   อุโบสถกรรม อุปสมบทกรรม อปโลกนกรรม อัพภานกรรม อุกเขปนียกรรม ใช้สงฆ์จำนวนเท่าไรเป็นอย่างน้อยจึงจะถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ?
เฉลย      อุโบสถกรรม ใช้สงฆ์ ๔ รูป
              อุปสมบทกรรม ในปัจจันตชนบท ใช้สงฆ์ ๕ รูป ในมัชฌิมชนบทใช้สงฆ์ ๑๐ รูป
              อปโลกนกรรม ใช้สงฆ์ ๔ รูป
              อัพภานกรรม ใช้สงฆ์ ๒๐ รูป
              อุกเขปนียกรรม ใช้สงฆ์ ๔ รูป ฯ
๓.    จงอธิบายความหมายคำต่อไปนี้
ก. สัตตัพภันตรสีมา            ข. อุทกุกเขปสีมา
เฉลย ก. สัตตัพภันตรสีมา ได้แก่สีมาในป่าหาคนตั้งบ้านเรือนมิได้ กำหนดเขตแห่งสามัคคีในชั่ว ๗ อัพภันดรโดยรอบ นับแต่ที่สุดแนวแห่งสงฆ์ออกไป (๗ อัพภันดร คือ ๔๙ วา)
ข. อุทกุกเขปสีมา ได้แก่สีมามีกำหนดเขตสามัคคีด้วยชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังเป็นปานกลาง ฯ
๔.    ผ้าที่ไม่ทรงอนุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐิน ได้แก่ผ้าเช่นไรบ้าง?
เฉลย เช่นนี้ คือ
              ๑. ผ้าที่ไม่ได้เป็นสิทธิ เช่น ผ้าที่ขอยืมเขามา
              ๒. ผ้าที่ได้มาโดยอาการอันมิชอบ คือทำนิมิตได้มา พูดเลียบเคียงได้มาและผ้าเป็นนิสสัคคีย์
              ๓. ผ้าที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ แต่เก็บค้างคืนไว้ ฯ
๕.    ภิกษุผู้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้อานิสงส์อะไรบ้าง?
เฉลย      ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลาตามสิกขาบทที่ ๖ แห่งอเจลวรรค ในปาจิตติยกัณฑ์
              ๒. เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
              ๓. ฉันคณะโภชน์ได้
              ๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
              ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ
ทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลให้ยาวออกไปตลอด ๔ เดือนฤดูเหมันต์ด้วย ฯ
๖.    ท่านศึกษาพระวินัยในเรื่องการอุปสมบทดีแล้ว จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้
ก. อภัพบุคคล           ข. อุปสัมปทาเปกขะ         ค. กรรมวาจา
ง. อนุสาวนา             จ. อนุศาสน์
เฉลย      ก. อภัพบุคคล คือบุคคลผู้ไม่ควรแก่การให้อุปสมบท ทรงห้ามไว้เป็นเด็ดขาด อุปสมบทไม่ขึ้น
           . อุปสัมปทาเปกขะ คือผู้ประสงค์จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
              ค. กรรมวาจา คือวาจาที่สวดประกาศในการให้อุปสมบท
              ง. อนุสาวนา คือวาจาที่สวดประกาศความปรึกษาและตกลงสงฆ์
              จ. อนุศาสน์ คือกิจที่พึงทำภายหลังจากอุปสมบทเสร็จแล้ว มีการบอกนิสสัย ๔ บอกอกรณียกิจ ๔ เป็นต้น ฯ
๗.   ภิกษุทะเลาะกันเรื่องสรรพคุณของยา จัดเป็นวิวาทาธิกรณ์ได้หรือไม่? เพราะเหตุไร?
เฉลย ไม่ได้ ฯ เพราะวิวาทาธิกรณ์ มุ่งเฉพาะวิวาทปรารถพระธรรมวินัย ฯ
๘.   อุกเขปนียกรรม และ นิยสกรรม สงฆ์พึงลงแก่ภิกษุเช่นไร?
เฉลย      อุกเขปนียกรรม พึงลงแก่ภิกษุไม่เห็นอาบัติ ผู้ไม่ทำคืนอาบัติ หรือผู้ไม่สละทิฏฐิบาป
              นิยสกรรม พึงลงแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร ฯ
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์
๙.   กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง จะพ้นจากตำแหน่งในกรณีใดบ้าง?
เฉลย ๑. ครบวาระ ๒ ปี          ๒. มรณภาพ            ๓. พ้นจากความเป็นพระภิกษุ
       ๔. ลาออก                    ๕. สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก ฯ
๑๐.        การปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค จัดแบ่งเขตการปกครองไว้อย่างไร? จงอ้างมาตราประกอบ
เฉลย ๑. ภาค    ๒. จังหวัด     ๓. อำเภอ      ๔. ตำบล ฯ
ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น