ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นเอก
สอบในสนามหลวง
พ.ศ.
๒๕๕๒
๑.
ในพหุลานุสาสนีที่สวดในเวลาทำวัตรเช้า
ไม่มีทุกขลักษณะพระไตรลักษณ์ไม่ขาดไปข้อหนึ่งหรืออย่างไร? จงอธิบาย
ตอบ ไม่ขาด เพราะลักษณะทั้ง ๓ นี้
เป็นธรรมธาตุ ธรรมนิยาม ธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรมที่คงอยู่มิได้ยักย้าย
อีกประการหนึ่ง บาลีว่า ยทนิจฺจํ สิ่งใดไม่เที่ยง ตํ ทุกฺขํ สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ยํ
ทุกขํ สิ่งใดเป็นทุกข์ ตทนตฺตา สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มิใช่ตัวมิใช่ตน เพราะเหตุนั้น
พหุลานุสาสนีจึงได้ครบลักษณะทั้ง ๓
๒.
ทุกขขันธ์
หรือทุกข์รวบยอด หมายเอาอะไร?
มีหลักฐานอ้างอิงในบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่าอย่างไร?
ตอบ หมายเอา สังขารคือประชุมปัญจขันธ์ ฯ
มีหลักฐานว่า สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕
เป็นทุกข์
๓.
การพิจารณาเห็นสังขารเป็นอนัตตาโดยมีโยนิโสมนสิการกำกับ
จะไม่กลายเป็นนัตถิกทิฏฐิ เพราะกำหนดรู้ถึงธรรม ๒ ประการ ธรรมทั้ง ๒ นี้ได้แก่อะไร?
ตอบ ได้แก่ สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ
และปรมัตถสัจจะ จริงโดยปรมัตถะ ฯ
๔.
ลัทธิบางอย่างมีหลักการว่า
ทำบาปแล้วบริสุทธิ์หมดจดได้ด้วยการอาบน้ำ ด้วยการบวงสรวง ด้วยการสวดอ้อนวอน
เป็นต้น ในฝ่ายพระพุทธศาสนากล่าวถึงเรื่องนี้ว่าอย่างไร? จงอ้างหลักฐาน
ตอบ พระพุทธศาสนามีหลักว่า บุคคลทำบาปเอง
ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่ทำบาปเอง ย่อมบริสุทธิ์ หมดจดเอง
ความหมดจดและความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตัว
ผู้อื่นทำผู้อื่นให้หมดจดหรือเศร้าหมองไม่ได้ ความบริสุทธิ์ภายในย่อมมีด้วยปัญญา ฯ
มีพระบาลีแสดงไว้ว่า ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ บุคคลย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา และว่า
อตฺตนา ว กตํ
ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺ สติ
อตฺตนา อกตํ ปาปํ
อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ
นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย.
ทําบาปเอง
ย่อมเศร้าหมองเอง ไม่ทำบาปเอง
ย่อมหมดจดเอง ความหมดจดและความเศร้าหมอง
เป็นเฉพาะตัว
คนอื่นยังคนอื่นให้หมดจดหาได้ไม่ ฯ
๕.
ข้อความว่า
ปลงภาระอันหนักเสียแล้ว ไม่ถือเอาภาระอันอื่น ดังนี้ มีอธิบายอย่างไร?
ตอบ อธิบายว่า ภาระ หมายเอาเบญจขันธ์
การปลงภาระหมายเอาการถอนอุปาทาน การไม่ถือเอาภาระอื่น หมายเอาการไม่ถือเบญจขันธ์อื่นด้วยอุปาทาน
ฯ
๖.
สัตว์โลกตายแล้วมีคติเป็นอย่างไร? มีพระบาลีแสดงไว้อย่างไร?
ตอบ มีคติเป็น ๒ คือ สุคติและทุคติ ฯ
มีพระบาลีแสดงไว้ว่า
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา.
เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้
จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ
ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา.
เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง ฯ
๗.
พระโยคาวจรสำเร็จปฐมฌาณแล้ว
ควรกระทำให้ชำนาญด้วยวสีทั้ง ๕ ก่อนที่จะเจริญทุติยฌาณต่อไป เพราะเหตุใด?
ตอบ เพราะถ้าไม่ชำนาญในปฐมฌาณแล้ว
เมื่อเจริญทุติยฌาณต่อขึ้นไปก็จะเสื่อมจากปฐมฌาณและทุติยฌาณทั้ง ๒ ฝ่าย ฯ
๘.
อนัตตลักขณสูตร
ว่าด้วยเรื่องอะไร? ในพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์แห่งวิปัสสนาญาณไว้อย่างไร?
ตอบ ว่าด้วย ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ฯ
อานิสงส์แห่งวิปัสสนาญาณนั้นว่า เอวํ ปสฺสํ ภิกฺขเว สุตฺวา
อริยสาวโก เป็นต้น ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว
เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อหน่ายก็ย่อมฟอกจิตให้หมดจด เพราะการฟอกจิตให้หมดจดให้
จิตนั้นก็พ้นจากอาสวะทั้งปวง เมื่อจิตพ้นพิเศษแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าพ้นแล้ว
และพระอริยสาวกนั้นรู้ประจักษ์ว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์คือกิจศาสนาได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก ฯ
๙. (ปี
2552) สติปัฏฐาน ๔ อันผู้ปฏิบัติธรรมอบรมให้บริบูรณ์เต็มที่แล้ว
ย่อมเป็นเพื่ออานิสงส์ ๕ ประการ อะไรบ้าง?
ตอบ คือ
๑.
เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย
๒.
เพื่อความข้ามพ้นโสกะและปริเทวะทั้งหลาย
๓.
เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
๔.
เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้
๕.
เพื่อการทำให้แจ้งพระนิพพาน ฯ
๑๐.
ในสัญญา ๑๐
ทรงแสดงถึงการให้พิจารณาพระนิพพานว่าเป็นธรรมที่สำรอกกิเลส
และว่าเป็นธรรมเป็นที่ดับสนิท จัดเป็นสัญญาข้อไหนบ้าง?
ตอบ พิจารณาพระนิพพานว่า
เป็นธรรมที่สำรอกกิเลส จัดเป็นวิราคสัญญา
พิจารณาพระนิพพานว่า เป็นธรรมเป็นที่ดับสนิท
จัดเป็นนิโรธสัญญา ฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น